วันจันทร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2559

การเลี้ยงปลาดุก

การเลี้ยงปลาดุก



คอลัมน์เกษตรอีสานกับอีสานร้อยแปด วันนี้จะพาพี่น้องมารู้จักกับ “การเลี้ยงปลาดุก” การเลี้ยงปลาดุกนั้นนอกจากจะเลี้ยงตามบ่อธรรมชาติที่เรารู้จักกันแล้วยังมีวิธีการเลี้ยงปลาดุกที่หลากหลาย อย่างเช่น “การเลี้ยงปลาดุกในบ่อดิน“, “การเลี้ยงปลาดุกในบ่อพลาสติก” , “การเลี้ยงปลาดุกในบ่อปูน” , “การเลี้ยงปลาดุกในโอ่ง“, “การเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุย” , “การเลี้ยงปลาดุกอุย” , “การเลี้ยงปลาดุกรัสเซีย” , “การเลี้ยงปลาดุกนา” เป็นต้น ว่าแล้วเราก็ไปดูกันในแต่ละหัวข้อกันเลยครับพี่น้อง
ปลาดุกที่นิยมเลี้ยงเพื่อการค้า
การเลี้ยงปลาดุก ทั้งที่เลี้ยงเพื่อทำการค้า หรือเลี้ยงภายในครัวเรือน ปลาดุกที่นิยมนำมาเลี้ยงมีหลากหลายสายพันธุ์ แต่ที่เราจะมาพูดถึงในวันนี้คือการเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุย,การเลี้ยงปลาดุกอุย,การเลี้ยงปลาดุกรัสเซีย และการเลี้ยงปลาดุกนา
ลักษณะที่แตกต่างของปลาดกอุยและปลาดุกเทศ
ลักษณะที่แตกต่างของปลาดกอุยและปลาดุกเทศ
การเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุย เลี้ยงง่าย โตไวทนทานต่อสภาพอากาศของบ้านเราได้ดี ไม่ค่อยเป็นโรคง่าย เกษตรกรนิยมเลี้ยงเพื่อทำการค้าเป็นอย่างมาก ปลาดุกบิ๊กอุยเกิดจากการผสมพันธุ์ข้ามสายพันธุ์ระหว่างปลาดุกอุยเพศเมีย และปลาดุกเทศเพศผู้ ปลาดุกบิ๊กอุย มีลักษณะใกล้เคียงกับปลาดุกอุย จึงมีลักษณะใกล้เคียงกับปลาดุกอุยมาก การเพาะขยายพันธุ์นั้นให้ผลค่อนข้างดี ลูกปลาดุกบิ๊กอุยมีอัตราการเจริญเติบโตรวดเร็ว ทนทานต่อโรคสูง ในทางกรมประมงให้ชื่อว่า ปลาดุกอุย-เทศ แต่ชาวบ้านทั่วไปเราเรียกกันว่าปลาดุกบิ๊กอุย หรือ อุยบ่อ
การเลี้ยงปลาดุกอุย ได้รับความนิยม เช่นเดียวกัน ด้วยลักษณะเด่นที่เติบโตเร็วและทนทานต่อโรคสูง ไม่เป็นโรคง่าย จึงนิยมเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย ปลาดุกอุย เกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างปลาดุกอุยเพศเมีย และปลาดุกอุยเพศผู้ ไม่ได้ข้ามสายพันธุ์เหมือนปลาดุกบิ๊กอุย จึงทนทานโรคกว่า แต่ขนาดอาจจะไม่เท่ากันปลาดุกบิ๊กอุย ข้อดีคือดูแลได้ง่ายกว่านั่นเอง
การเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุย
การเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุย
การเลี้ยงปลาดุกรัสเซีย ปลาดุกรัสเซียเป็นปลาน้ําจืดในอันดับปลาหนังชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Clarias gariepinus ในวงศ์ปลาดุก (Clariidae) มีลักษณะทั่วไปคล้ายปลาดุกด้าน (C. batrachus) ซึ่งเป็นปลาในสกุลเดียวกัน แต่มีส่วนหัวยาวกว่าและแนวระหว่างจะงอยปากถึงท้ายทอยเว้าและโค้งลาด ด้านบนของศีรษะขรุขระกว่า เมื่อมองจากด้านบนจะเห็นเป็นรูปสามเหลี่ยม ท้ายทอยแหลมเป็นโค้ง 3 โค้ง โดยส่วนกลางยื่นยาวมากที่สุด ลําตัวยาวครีบหลังและครีบก้นยาว ลําตัวด้านบนมีสีน้ําตาลคล้ําอมเหลือง และมีลายแต้มแบบลายหินอ่อนบนลําตัว แก้มและท้องสีจาง ที่โคนครีบหางมีแถบตามแนวตั้งสีจาง ซึ่งเป็นลักษณะสําคัญของปลาชนิดนี้ครีบมีสีเข้ามกว่าลําตัวเล็กน้อย บางตัวอาจมีขอบครีบสีแดงนับเป็นปลาที่ขนาดใหญ่สุดในสกุล Clarias ขนาดเมื่อโตเต็มที่ยาวได้ถึง 1.70 เมตร เป็นปลาพื้นเมืองของทวีปแอฟริกา พบได้ในตอนเหนือและตอนตะวันออกของทวีป สําหรับในประเทศไทยได้ถูกนําเข้ามาในปีพ.ศ. 2528 โดยเอกชนบางรายในจังหวัดหนองคายและอุบลราชธานีโดยนําเข้ามาจากประเทศลาวเพื่อเลี้ยงไว้ดูเล่น เนื่องจากมีขนาดลําตัวใหญ่กว่าปลาดุกทั่วไป
การเลี้ยงปลาดุกนา เนื่องจากปลาดุกนาเป็นปลาพื้นเมือง ข้อดีคือทนทานต่อโรคมาก ไม่ต้องดูแลมากปลาดุกนาก็สามารถเติบโตได้ดี รสชาติอร่อย เนื้อแน่น กลิ่นหอมกว่าปลาดุกพันธุ์ แต่ขนาดยังเป็นรองอยู่ นิยมเลี้ยงกันในครัวเรือน เนื่องจากหาพันธุ์ง่าย
การเลี้ยงปลาดุกในบ่อดิน
การเลี้ยงปลาดุกในบ่อดิน
การเลี้ยงปลาดุกในบ่อดิน การเลี้ยงในบ่อดินนั้น จะต้องเตรียมบ่อตามหลักการเตรียมบ่อเลี้ยงปลาทั่ว ๆ ไป ดังนี้
1. จะต้องตากก้นบ่อให้แห้ง ปรับสภาพก้นบ่อให้สะอาด
2. ใส่ปูนขาว เพื่อปรับสภาพของดินโดยใส่ปูนขาวในอัตราประมาณ 60 – 100 กก./ไร่
3. ใส่ปุ๋ยคอกเพื่อให้เกิดอาหารธรมชาติสำหรับลูกปลาในอัตราประมาณ 40 – 80 กก./ไร่
4. นำน้ำในบ่อโดยกรองไม่ให้ศัตรูของลูกปลาติดเข้ามากับน้ำ จนมีระดับน้ำลึก 30 – 40 ซม. หลังจากนั้นรุ่งขึ้นจึงปล่อยปลา และเพื่อให้ลูกปลามีอาหารกิน ควรเติมไรแดง ในอัตราประมาณ 5 กิโลกรัม / ไร่ เพื่อเป็นอาหารแก่ลูกปลา หลังจากนั้นจึงให้อาหารผสมแก่ลูกปลาที่นำมาเลี้ยงควรตรวจดูว่ามีสภาพปกติ การปล่อยลูกปลาลงบ่อเลี้ยงจะต้องปรับสภาพอุณหภูมิของน้ำในถุงและน้ำในบ่อให้เท่า ๆ กันก่อนโดยการแช่ถุงบรรจุลูกปลาในน้ำประมาณ 30 นาที จึงปล่อยลูกปลาควรเป็นตอนเย็นหรือตอนเช้า
การเลี้ยงปลาดุกในบ่อปูน
การเลี้ยงปลาดุกในบ่อปูน
การเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์ ควรปรับสภาพน้ำในบ่อที่เลี้ยงให้มีสภาพเป็นกลางหรือด่างเล็กน้อย แต่ต้องแน่ใจว่าบ่อซีเมนต์จะต้องหมดฤทธิ์ของปูนระดับน้ำในบ่อเมื่อเริ่มปล่อยลูกปลาขนาด 2 – 3 ซม. ควรมีความลึกประมาณ 20 – 30 เซนติเมตร เมื่อลูกปลาเติบโตขึ้นค่อย ๆ เพิ่มระดับน้ำให้สูงขึ้นตามลำดับโดยเพิ่มระดับน้ำประมาณ 5 ซม./อาทิตย์ ให้อาหารเม็ดประมาณ 3 – 7 เปอร์เซนต์ ของน้ำหนักตัวปลาโดยปล่อยปลาในอัตรา 50 – 70 ตัว/ตรม.ปลาจะเติบโตได้ขนาดประมาณ 00 – 200 กรัม/ ตัว ในระยะเวลาสั้น ประมาณ 90 วัน อัตราการรอดประมาณ 80 % ซึ่งอาหารที่ใช้เลี้ยงสามารถให้อาหารชนิดต่าง ๆ ทดแทนอาหารเม็ดได้ โดยใช้อาหารพวกไส้ไก่หรือปลาเป็ดผสมกับเศษอาหารก็ได้ แต่จำเป็นต้องถ่ายเทน้ำ เพื่อป้องกันน้ำเสียบ่อยกว่า การถ่ายเทน้ำเมื่อเลี้ยงด้วยอาหารเม็ด
การเลี้ยงปลาดุกในบ่อพลาสติก
การเลี้ยงปลาดุกในบ่อพลาสติก
การเลี้ยงปลาดุกในบ่อพลาสติก การเตรียมบ่อจะแตกต่างจากสองวิธีข้างต้นคือลดต้นทุนจากแบบบ่อปูนซีเมนซ์ เคลื่อนย้ายได้ง่ายกว่า การเตรียมบ่อทำได้โดยอาจจะทำคอกขึ้นมา โครงเป็นเหล็ก หรือกึ่งปูนกึ่งพลาสติกก็ได้ คือปูนทำเป็นโครงและรองด้วยพลาสติกอีกชั้น ข้อดีคือไม่ต้องกังวลเรื่องความเค็มของน้ำ เพราะน้ำไม่ได้สัมผัสกับปูนซีเมนต์โดยตรง เราจึงเริ่มเลี้ยงได้ง่ายและไวกว่านั่นเอง
คุณสมบัติของน้ำที่นำมาใช้เลี้ยงปลาดุก
คุณสมบัติของน้ำที่นำมาใช้เลี้ยงปลาดุก
ขั้นตอนการเลี้ยงปลาดุก
1. อัตราการปล่อยปลาดุกลูกผสม (บิ๊กอุย) ลูกปลาขนาด 2 – 3 ซม. ควรปล่อยประมาณ 40 – 100 ตัว / ตรม. ซึ่งขึ้นอยู่กับกรรมวิธีในการเลี้ยง คือชนิดของอาหาร ขนาดของบ่อและระบบการเปลี่ยนถ่ายน้ำซึ่งปกติทั่ว ๆ ไป อัตราปล่อยเลี้ยงประมาณ 50 ตัว/ตรม.และเพื่อป้องกันโรคซึ่งอาจจะติดมากับลูกปลาใช้น้ำยาฟอร์มาลินใส่ในบ่อเลี้ยง อัตราความเข้มข้นประมาณ 30 ส่วนในล้าน (3 ลิตร/น้ำ 100 ตัน) ในวันที่ปล่อยลูกปลาไม่จำเป็นต้องให้อาหาร ควรเริ่มให้อาหารในวันรุ่งขึ้น
2. การให้อาหาร เมื่อปล่อยลูกปลาดุกผสมลงในบ่อดินแล้ว อาหารที่ให้ในช่วงที่ลูกปลาดุกผสมลงในบ่อดินแล้ว อาหารที่ให้ในช่วงที่ลูกปลาดุกมีขนาดเล็ก ( 2 – 3 ซม.) ควรให้อาหารผสมคลุกน้ำปั้นเป็นก้อนให้ลูกปลากิน โดยให้กินวันละ 2 ครั้ง หว่านให้กินทั่วบ่อโดยเฉพาะในบริเวณขอบบ่อ เมื่อลูกปลามีขนาดโตขึ้นความยาวประมาณ 5 – 7 ซม. สามารถฝึกให้กินอาหารเม็ดได้หลังจากนั้นเมื่อปลาโตขึ้นจน มีความยาว 15 ซม. ขึ้นไปจะให้อาหารเม็ดเพียงอย่างเดียวหรืออาหารเสริมชนิดต่าง ๆ ได้ เช่นปลาเป็ดผสมรำละเอียดอัตรา 9 : 1 หรือให้อาหารที่ลดต้นทุน เช่น อาหารผสมบดจากส่วนผสมต่าง ๆ เช่น กระดูกไก่ ไส้ไก่ เศษขนม ปังเศษเส้นหมี่ เศษเลือดหมู เลือด ไก่ เศษเกี้ยว หรือเศษอาหารต่าง ๆ เท่าที่สามารถหาได้ นำมาบดรวมกันแล้วผสมให้ปลากิน แต่การให้อาหารประเภทนี้จะต้องระวังเรื่องคุณภาพของน้ำในบ่อเลี้ยงให้ดี เมื่อลูกปลาเลี้ยงได้ประมาณ 3 – 4 เดือนปลาจะมีขนาดประมาณ 200 – 400 กรัม/ตัว ซึ่งผลผลิตที่ได้จะประมาณ 10 -14 ตัน/ไร่ อัตรารอดตายประมาณ 40 – 70%
3.การถ่ายเทน้ำ เมื่อตอนเริ่มเลี้ยงใหม่ ๆ ระดับความลึกของน้ำในบ่อควรมีค่าประมาณ 10 – 40 ซม. เมื่อลูกปลาเจริญเติบโตขึ้น ในเดือนแรกจึงเพิ่มระดับน้ำสูงเป็นประมาณ 50 – 60 เซนติเมตร หลังจากย่างเข้าเดือนที่สองควรเพิ่มระดับน้ำให้สูงขึ้น 10 เซนติเมตร/อาทิตย์ จนระดับน้ำในบ่อมีความลึก 1.20 – 1.50 เมตร การถ่ายเทน้ำควรเริ่มตั้งแต่การเลี้ยงผ่านไปประมาณ 1 เดือน โดยถ่ายน้ำประมาณ 20 % ของน้ำในบ่อ 3 วัน/ครั้ง หรือถ้าน้ำในบ่อเริ่มเสียจะต้องถ่ายน้ำมากกว่าปกติ
วิธีการเลี้ยงปลาดุก
วิธีการเลี้ยงปลาดุก
โรคของปลาดุกเลี้ยง
ในกรณีที่มีการป้องกันอย่างดีแล้วแต่ปลาก็ยังป่วยเป็นโรค ซึ่งมักจะแสดงอาการให้เห็น โดยแบ่งอาการของโรคเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้
1. อาการ ติดเชื้อจากแบคทีเรีย จะมีการตกเลือดมีแผลตามลำตัวและครีบ ครีบกร่อน ตาขุ่น หนวดหงิกกกหูบวม มีน้ำในช่องท้อง กินอาหารน้อยลง หรือไม่กินอาหาร ลอยตัว
2. อาการจากปรสิตเข้าเกาะตัวปลาจะมีเมือกมาก มีแผลตามลำตัว ตกเลือด ครีบเปื่อย จุดสีขาวตามลำตัว สีตามลำตัวซีดหรือเข้มผิดปกติเหงือกซีดว่ายน้ำทุรนทุราย ควงสว่านหรือไม่ตรงทิศทาง
3. อาการจากอาหารมีคุณภาพไม่เหมาะสม คือ ขาดวิตามินซี กระโหลกร้าว บริเวณใต้คางจะมีการตกเลือด ตัวคด กินอาหารน้อยลง ถ้าขาดวิตามินบีปลาจะว่ายน้ำตัวเกร็งและชักกระตุก
4. อาการจากคุณภาพน้ำในบ่อดิน ไม่ดี ปลาจะว่ายน้ำขึ้นลงเร็วกว่าปกติลอยหัวครีบกร่อนเปื่อยหนวดหงิก เหงือกซีดและบวม ลำตัวซีด ไม่กินอาหาร ท้องบวม มีแผลตามตัวอนึ่ง ในการรักษาโรคปลาควรจะได้พิจารณาให้รอบคอบก่อนการตัดสินในการเลือกใช้ยาหรือสารเคมี สาเหตุของโรค ระยะรักษา ค่าใช้จ่ายในการรักษา
5. การป้องกันโรค การเกิดโรคของปลาดุกที่เลี้ยงมักจะเกิดจากปัญหาคุณภาพของน้ำในบ่อเลี้ยงไม่ดี ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุของการให้อาหารมากเกิน ไปจนอาหารเหลือเน่าเสีย เราสามารถป้องกัน ไม่ให้เกิดโรคได้โดยต้องหมั่นสังเกตว่าเมื่อหยุดกินอาหารจะต้องหยุดให้อาหารทันที เพราะปลาดุกลูกผสมนิสัยชอบกินอาหารที่ให้ใหม่โดยถึงแม้จะกินอิ่มแล้วถ้าให้อาหารใหม่อีก ก็จะคายหรือสำรอกอาหารเก่าทิ้งแล้วกินอาหารที่ให้ใหม่อีก ซึ่งปริมาณอาหารที่ให้ไม่ควรเกิน 4 – 5 % ของน้ำหนักตัวปลา
การเลี้ยงปลาดุกอุย
การเลี้ยงปลาดุกอุย
วิธีป้องกันการเกิดโรค
ในปลาดุกลูกผสมที่เลี้ยง
1.ควรเตรียมบ่อและน้ำตามวิธีการที่เหมาะสมก่อนปล่อยลูกปลา
2. ซื้อพันธุ์ปลาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ว่าแข็งแรงและปราศจากโรค
3. หมั่นตรวจดูอาการของปลาอย่างสม่ำเสมอถ้าเห็นอาการผิดปกติต้องรีบหาสาเหตุและแก้ไขโดยเร็ว
4. หลังจากปล่อยหลาเลี้ยงแล้ว 3 – 4 วัน ควรสาดน้ำยาฟอร์มาลิน 2 – 3 ลิตร/ปริมาตรน้ำ 100 ตันและหากปลาที่เลี้ยงเกิดโรคพยาธิภายนอกให้ แก้ไขโดยสาดน้ำยาฟอร์มาลินในอัตรา 4 – 5 ลิตร/ปริมาตร น้ำ 100 ตัน
5. เปลี่ยนถ่ายน้ำจากระดับก้นบ่ออย่างสม่ำเสมอ
6. อย่าให้อาหารจนเหลือ
เคล็ดลับพิเศษสำหรับการเลี้ยงปลาดุก1.เทคนิคการเพิ่มสีและขนาดให้กับปลาดุกด้วยมันหมู  ทำได้โดยการต้มมันหมูให้สุก นำไปเป็นอาหารปลาดุกวันละครั้ง เมื่อครบสองเดือนเริ่มให้อาหารนี้ จะเป็นการเพิ่มขนาดและสีของปลาดุก
2.เทคนิคการเลี้ยงปลาดุกให้โตเร็ว ทนทานต่อโรคด้วยมะเดื่อชุมพร นำมะเดือชุมพรหมักใส่ถุงไม่ให้อากาศเข้า นานหนุ่งเดือนจะได้จุลินทรีย์ นำมาเลี้ยงปลาดุกช่วงอายุประมาณสามเดือน ช่วยเร่งการเติบโต ได้มีน้ำหนักดี
3.การทำให้ปลาดุกที่เลี้ยงบ่อดินผิวสวยสีเหลืองนวลเหมือนปลาดุกนา ก่อนจะจับปลาดุกขายประมาณ 1 เดือน ให้นำกล้วยน้ำหว้าสุกมาบดผสมกับรำรวม ในอัตราส่วนรำรวม 6 ก.ก. ต่อกล้วยสุก 1 หวี ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน จากนั้นนำไปตากแดดให้แห้ง หว่านให้ปลาดุกกินทุกวัน วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น
4.การเลี้ยงปลาด้วยกล้วยสุกเพื่อเพิ่มความหวานให้เนื้อปลา นำกล้วย เช่น กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ และกล้วยหอมชนิดต่างๆ ให้ปลากิน ถ้าปลายังตัวเล็กให้ปลาหัดกินอาหารสำเร็จสลับกับกล้วยสุกฝานเป็นชิ้นเล็กๆ เมื่อปลามีขนาดใหญ่ขึ้นจะให้กล้วยสุกพร้อมเปลือกเป็นลูก เป็นหวี หรือเป็นเครือก็ตามแต่จะสะดวก อาจจะให้กล้วยเป็นอาหารในตอนเย็นสลับกับการให้อาหารสำเร็จรูปในตอนเช้า หรือจะให้กล้วยเป็นอาหารปลาอย่างเดียวก็ได้ โดยให้ปลากินพออิ่ม วิธีการเช่นนี้สามารถนำไปเลี้ยงปลาได้ทุกชนิด ปลาจะโตเร็ว มีเนื้อแน่น รสหวาน ได้ขนาดตามความต้องการของตลาด
5.เทคนิคการเลี้ยงปลาดุกให้ตัวใหญ่ยาวได้น้ำหนัก
หลังจากปล่อยลูกปลาลงบ่อแล้ว ให้อดอาหาร 4 วัน เพื่อเป็นการปรับสภาพของลูกปลาให้เข้ากับน้ำในบ่อ จากนั้นวันที่ 5 ก็เริ่มให้อาหาร โดยให้อาหารลูกปลาดุกในปริมาณที่ไม่ต้องมาก แต่ให้บ่อยครั้ง ลูกปลาจะค่อยๆ เจริญเติบโต หลังจากนั้นเมื่อปลาอายุได้ประมาณ 2 เดือน ให้หยุดให้อาหาร 7 วัน วิธีนี้จะทำให้ปลาดุกผอม และยืดตัวออก แล้วจึงค่อยให้อาหารต่อ ผลที่ได้คือปลาดุกจะตัวโต และยาว ซึ่งเมื่อเห็นว่ามีขนาดพอเหมาะเช่น 2 หรือ 3 ตัวต่อกิโลกรัม ก็สามารถจำหน่ายได้
6.การนำฟางใส่ในบ่อปลาเพื่อขจัดกลิ่นคาวปลาและเพิ่มสีสัน การที่นำฟางข้าวมาใส่ในบ่อปลาดุกก่อนที่จะทำการจับปลานั้นมีประโยชน์หลายด้าน ซึ่งเมื่อเรานำฟางข้าวใส่ลงไป ปลาก็จะเข้าไปในฟางข้าวทำให้ตัวปลาเสียดสีกับฟางข้าว และจะทำให้เมือกที่ติดอยู่กับตัวปลาหมดไป และยังทำให้ปลาที่มีสีดำคล้ำ มีสีเหลืองนวลอีกด้วย นอกจากนี้การใส่ฟางข้าวลงไปก่อนจับปลาดุกนั้นยังเป็นการช่วยลดกลิ่นสาบของปลาได้อีกด้วย
7.เทคนิคการเตรียมจับปลาดุกขายให้ได้ราคาและกำจัดกลิ่นคาวปลา งดให้อาหาร 3 วัน ก่อนทำการจับปลา จากนั้นลดน้ำในบ่อให้เหลือประมาณ 80 – 90 เซนติเมตร ก่อนจับปลา 2 วัน แล้วใช้เกลือหว่านลงไปในบ่อ บ่อพื้นที่ 1 ไร่ ใช้เกลือ 30 กิโลกรัม โดยหว่านก่อนจับปลา 1วัน
ขอบคุณข้อมูลจาก : ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดพะเยา , รักบ้านเกิดดอทคอม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น